24h購物| | PChome| 登入
2013-11-19 09:43:08| 人氣540| 回應0 | 上一篇 | 下一篇

菩多佛教文物1館R16-曼谷瓦呆咪寺(金佛寺)昭坤通猜大師2546銀質烏巴庫尊者-編號34

推薦 0 收藏 0 轉貼0 訂閱站台













曼谷
 
瓦呆咪寺(金佛寺)
 
昭坤通猜大師
 
2546銀質烏巴庫尊者-編號34
 
佛曆2546年(西元2003年)
 
瓦呆咪寺內供一尊泰國古老純金大佛.
 
重約5噸.
 
此寺跟玉佛寺一樣.
 
歷屬皇室佛寺
  
此尊烏巴庫尊者
  
右手入缽中
 
泰國此意代表-有得吃.又有錢賺.
 
含雙麻花邊銀殼尺寸
 
高4公分.寬2.5公分.厚1.7公分.
 
*****************************
 
以下為曼谷瓦呆咪寺(金佛寺)泰文介紹
 

พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร
 

         ท่ามกลางกระแสธารแห่งอารยธรรมตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบัน ปรากฏร่องรอยหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย มรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม สะท้อนให้เห็นความรุ่งโรจน์แห่งอารยธรรมไทยแต่ครั้งโบราณกาล ดังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งทรงตรวจสอบค้นคว้าด้านโบราณคดีเกี่ยวกับ “สุโขทัย” ความว่า

        “ชาติไทยเรา ไม่ใช่ชาติใหม่ และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า หรือที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า ‘อันซิวิไลซ์' ชาติไทยเราได้เจริญรุ่งเรืองมามากแล้ว เพราะฉะนั้น ควรที่จะรู้สึกอายแก่ใจว่า ในกาลปัจจุบันนี้ อย่าว่าแต่จะสู้ผู้อื่น แม้แต่จะสู้คนที่เป็นต้นโคตรของเราเองก็ไม่ได้ ฝีมือช่าง หรือความอุตสาหะของคนครั้งพระร่วงดีกว่าคนสมัยนี้ปานใด ถ้าอ่านหนังสือนี้แล้ว บางทีพอรู้สึก หรือเดาได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าอ่านแล้ว คงจะเห็นความเพียรของคนเราเพียงไร.."

พระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามรุ่งเรืองในอดีตโดยเฉพาะ “สุโขทัย” อาณาจักรไทย ที่ครอบคลุมดินแดนดอนเหนือในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ร่องรอยแห่งความเจริญดังกล่าว นอกจากจะพบได้จากซากเมือง และวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งศิลปวัตถุอันตกทอดมาถึงปัจจุบัน ที่สร้างขึ้นอย่างประณีตด้วยศิลปะชั้นสูงแล้ว ความยิ่งใหญ่แห่งอารยธรรมในอดีต ยังพบเห็นได้ชัดเจนจาก “พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร” พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์สมัยสุโขทัย อันเป็นมรดกแห่งอารยธรรมที่ตกทอดเป็นประจักษ์พยานถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมของสยามประเทศ

        “พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” หรือที่มีนามซึ่งปรากฏตามพระราชทินนาม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ว่า
พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารแห่งวัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย คือ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกตุเมาฬี ๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว น้ำหนักประมาณ ๕ ตันครึ่ง

 
 
พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร
 

ประวัติความเป็นมา 
 

       แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงามหรือโดดเด่น จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

      ต่อมาวัดพระยาไกรขาดคนบูรณปฏิสังขรณ์ จึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง ราว พ.ศ. ๒๔๗๔ บริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัด ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ ได้ขอเช่าที่จากรัฐบาล เข้าจัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้ มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดพระยาไกรออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่

 ในขณะนั้น “วัดสามจีน” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ทั่วทั้งพระอาราม โดยสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเพิ่มเติม สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่าง เห็นว่า จะปล่อยองค์พระพุทธรูปปูนปั้นให้อยู่ที่เดิมต่อไปจะเป็นการไม่สมควร ประกอบกับวัดสามจีน มีสถานที่กว้างขวางเหมาะสมกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงมอบให้คณะกรรมการวัดสามจีน อันประกอบด้วย พระมหาเจียม กมโล, พระมหาไสว ฐิตวีโร (พระวิสุทธาธิบดี), น.อ. หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย), ร.น. หลวงบริบาลเวชกิจ (ยู้ ลวางกูล), นายสนิท เทวินทรภักดี ร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดพระยาไกรมาประดิษฐานยังวัดสามจีน

 
 
ภาพพระพักษร์ของหลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร ภาพเล็กคือขณะที่ยังถูกหุ้มด้วยปูนปั้น ภาพใหญ่คือภาพในปัจจุบัน
 

จากพระพุทธรูปปูนปั้น สู่ "พระพุทธพุทธรูปทองคำ" 
 

       พระพุทธรูปปูนปั้นจึงถูกอัญเชิญมาตั้งแต่นั้น โดยในขณะที่ยังบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการวัดได้ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปไว้ข้างเจดีย์เป็นการชั่วคราว ในระหว่างนี้ มีผู้มาขออัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ การก่อสร้างพระอาราม พระวิหารต่าง ๆ ในวัดสามจีน ใช้เวลาเนิ่นนาน จนล่วงเลยไปถึง ๒๐ ปี ใน พุทธศักราช ๒๔๙๘ การบูรณะจึงเสร็จสิ้นเรียบร้อย

       เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธาธิบดี (ไสว ฐิตวีรมหาเถระ ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระวีรธรรมมุนี ผู้ดำเนินการสร้างวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจนแล้วเสร็จ ได้เป็นแม่กองเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้ เพื่อนำขึ้นประดิษฐานยังพระวิหารซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่ และหนักมาก ต้องใช้ปั้นจั่นยกองค์พระพุทธรูป ในขณะทำการยกนั้น ปรากฏว่า ลวดสลิงที่ยึดองค์พระเกิดขาดเพราะทานน้ำหนักองค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกบนพื้นอย่างแรง พอดีกับเวลานั้น เป็นเวลาใกล้ค่ำ และฝนก็บังเอิญตกอย่างหนัก การอัญเชิญพระพุทธรูปในวันนั้น จึงเป็นอันต้องหยุดชะงักลง

       ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาส ได้มาตรวจดูองค์พระ เพื่อหาทางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานใหม่ ก็ได้พบเห็นรอยแตกที่พระอุระ และเห็นรักที่ฉาบผิวองค์พระด้านใน เมื่อแกะรักออก ก็ได้พบเนื้อทองคำบริสุทธิ์งามจับตาอยู่ชั้นในสุด ท่านเจ้าอาวาส จึงสั่งการระดมผู้คนช่วยกันกะเทาะปูน และลอกรักออกหมดทั้งองค์ ความงดงามแห่งเนื้อทองบริสุทธิ์ขององค์พระปฏิมาจึงปรากฏให้เห็นพร้อมพุทธลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างสุโขทัย ที่งดงามจับตาจับใจผู้พบเห็นยิ่งนัก

ความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายหมดสิ้นลงเมื่อมีการคุ้ยดินใต้ฐานทับเกษตรออก และพบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ ๙ ส่วน เพื่อสะดวกต่อการอัญเชิญขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร จึงดำเนินการถอดองค์พระออกแต่เพียง ๔ ส่วน คือ ส่วนพระศอ ส่วนพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง และส่วนพระนาภี ทำให้สามารถอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ ขึ้นประดิษฐานยังพระวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้โดยราบรื่น

 
 
พระพุทธรูปทองคำ หลังจากได้กระเทาะปูนปั้นออกจนหมดแล้ว
 

ที่สุดของไทย ที่สุดของโลก 
 

       การค้นพบพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยของวัดไตรมิตรวิทยารามในครั้งกระนั้น ได้เป็นข่าวสำคัญอย่างอึกกะทึกครึกโครมไปทั่วทั้งประเทศ หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ หลายฉบับ ต่างก็พากันประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วหน้า มีการตรวจสอบ และประเมินเนื้อทองขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา (มาตราทองคำของไทยโบราณตั้งไว้ตั้งแต่ทองเนื้อสี่ คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๔ บาท ทองเนื้อเจ็ด คือทองหนัก ๑ บาท จะมีค่า ๗ บาท ซึ่งเป็นทองที่มีค่าของเนื้อทองรองจากทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า ซึ่งทองเนื้อเก้าจะเริ่มพบที่บางตะพานในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เรียกกันว่าทองคำบางตะพาน ส่วนคำว่าสองขาหมายถึง ๒ สลึง) มีน้ำหนักกว่า ๕ ตัน คิดเป็นน้ำหนักทองคำ ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ หรือคิดเป็นมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๘ ) ๑๔ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๒๙๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองร้อยเก้าสิบสี่ล้านบาท) อันเป็นราคาทองคำที่ถูกประเมินในครั้งแรก

พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปที่เกิดจากการสร้างในลักษณะดังกล่าวโดยฝีมือ “ช่างหลวง” ที่มีฝีมือการหล่อพระถึงขึ้นสุดยอด ทำให้ได้องค์พระซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามทองคำแล่นบริบูรณ์ตลอดองค์ โดยใช้เนื้อทองคำธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เรียกกันว่าทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา และแสดงให้เห็นถึงความแยบยล สามารถถอดองค์พระออกเป็นส่วน ๆ ได้ถึง ๙ ส่วน โดยมีกุญแจกลเป็นเครื่องมือในการถอดประกอบ นับเป็นฝีมือช่างชิ้นเอกอันยากจะหาฝีมือสกุลช่างใดทัดเทียมได้

 
 
นายช่างกำลังกระเทาะปูนปั้นออกจากพระเศียรพระพุทธรูปทองคำ
 

หลักฐานทางประวัติศาสตร์
 

       จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรเดิมเคยประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย โดยมีข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ กล่าวถึง “ พระพุทธรูปทอง” ความว่า

       “...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม...

       กลางเมืองสุโขทัยที่ปรากฏในจารึก หมายถึงวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและสังคมของสุโขทัยในอดีต โดยเฉพาะศาสนามีความรุ่งเรืองมากในสมัยพระธรรมราชาลิไท ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบันสันนิษฐานว่าเป็นผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒

        จากข้อความในศิลาจารึกซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้นวัดมหาธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ มีพระพุทธรูปทอง พระอัฏฐารส หรือพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ และพระพุทธรูปต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ความว่า

        “...ตรวจดูคำจารึกหลักศิลาของพระเจ้ารามคำแหง...ดู ก็น่าจะสันนิษฐานว่ากล่าวถึงวัดมหาธาตุนี้ “พิหารมีพระพุทธรูปทอง” นั้นน่าจะเป็นวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานพระศรีศากยมุนี..

        พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานในวิหารวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ยังวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ในรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งวิหารดังกล่าวเป็นวิหารหลวง เรียกว่าวิหารเก้าห้อง มีเสาศิลาเหลี่ยมขนาดใหญ่ค้ำเครื่องบน ซึ่งปัจจุบันปรักหักพังหมดแล้ว หากพิจารณาสภาพที่ปรากฏประกอบศิลาจารึกที่ ๑ จะพบแท่นรองพระพุทธรูปนอกเหนือจากองค์ประธาน ลดหลั่นกันไป จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปทองที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ นั้น น่าจะเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ มากกว่าจะเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ซึ่งพระพุทธรูปทองคำดังกล่าว ก็คือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร ในปัจจุบันนั่นเอง

        นอกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้ว ยังมีหลักฐานที่กล่าวถึงพระพุทธรูปทองคำในสมัยสุโขทัยอีก เช่น ในศิลาจารึกบางหลักกล่าวการสร้างพระพุทธรูปทอง โดยพระมหาธรรมราชาลิไท หรือในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงด้านที่ ๓ กล่าวถึงการออกผนวชของพระองค์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีต่อหน้าพระพุทธรูปทองคำ ดังความว่า

              “ ...พระยาศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช...

              หากสมาทานทศศีลเป็นดาบส...

              หน้าพระพุทธรูปทองอันประดิษฐานไว้

              เหนือราชมณเทียรอันตนแต่ง...

              ...เมื่อจัก...ศีลนั้น พระยาศรีสุริ(ย)

              พงศ์ราม(มหา) ธรรมราชาธิราช

              จึงจักยืนยอมือนบพระพุทธทอง

              นบทั้งพระปิฎกไตร..

        จากหลักฐานที่ปรากฏ อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ความประณีตของพุทธศิลปะ ความแยบยลของส่วนประกอบที่ทำเป็นกุญแจกล ความทรงค่ามหาศาลของเนื้อทองคำบริสุทธิ์ เป็นสิ่งซึ่งยากจะหาผู้ใดทำขึ้นได้นอกจากพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ซึ่งมีพระบรมโพธิสมภารอันยิ่งใหญ่ จึงจะสามารถหล่อสร้างเป็นองค์พระปฏิมาที่ประเสริฐล้ำเลิศเช่นนี้ได้สำเร็จ

        องค์พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรถูกหุ้มห่ออยู่ในปูนเป็นระยะเวลายาวนาน อาจกล่าวได้ว่า ผู้คนสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อน พ.ศ. ๒๔๙๘ มิได้ทราบเลยว่า ภายในพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ได้ซุกซ่อนพุทธปฏิมาอันงามล้ำเลิศและทรงค่ามหาศาล

        การพอกปูนปิดองค์พระสำคัญไว้ เป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมไทยสมัยก่อน ที่ต้องการพิทักษ์ปกป้ององค์พระพุทธรูปและพุทธศาสนาไว้จากภัยอันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะพบเห็นชัดเจนในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองที่พม่าได้สุมไฟลอกเอาทองจากองค์พระศรีสรรเพชญไปจนหมดสิ้น ผู้คนได้พยายามปกปิดหรือเคลื่อนย้ายองค์พระสำคัญ ๆ หลายต่อหลายองค์ จนเกิดเป็นตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ ที่ชาวบ้านช่วยกันนำองค์พระใส่แพไม้ไผ่อพยพหลบหลีกข้าศึก

       สำหรับ “หลวงพ่อทองคำ” องค์นี้ มีข้อสันนิฐานว่า การพอกปูนปิดองค์พระพุทธรูปคงจะกระทำขึ้นก่อนการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ในพ.ศ. ๒๓๒๕ และอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาทุกฉบับ รวมทั้งเอกสารสมัยอยุธยาไม่มีข้อความที่กล่าวถึงพระพุทธรูปทองคำองค์นี้เลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพอกปูนปิดองค์พระอาจกระทำมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเริ่มถูกครอบงำจากอำนาจของกรุงศรีอยุธยา และเสื่อมอำนาจลงอย่างสิ้นเชิงในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเป็นไปได้ที่คนสมัยกรุงศรีอยุธยาอาจพบเห็นเพียงองค์พระปูนปั้นประดิษฐานอยู่ในวัดมหาธาตุ สุโขทัย เรื่อยมา

            

       จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นสมัยที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ มายังกรุงเทพมหานคร มากกว่า ๑,๒๔๘ องค์(หนึ่งพันสองร้อยสี่สิบแปดองค์) พระพุทธรูปปูนปั้นที่หุ้มองค์หลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตรไว้ คงจะถูกอัญเชิญมาในคราวเดียวกันนี้ ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี พระประธานวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย มาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม และมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯ ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่าง ๆ ไว้ ณ พระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นใน พ.ศ. ๒๓๔๔ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยไตรมิตรในลักษณะการปูนปั้นปิดองค์พระคงจะประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระยาไกรในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 
 
ภาพสมเด็จย่าทรงพิจารณาพระเกตุมาลาของหลวงพ่อทองคำ
 

"พระพุทธพุทธรูปทองคำ" ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
 

       ในปัจจุบัน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า "หลวงพ่อทองคำ" ประดิษฐานอยู่ ณ พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ วัดไตรมิตรวิทยาราม เลขที่ ๖๖๑ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่พากันหลั่งไหลกันเข้ามาชมความงดงามแห่งองค์พระปฏิมาที่ทำจากเนื้อทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอันประเมินค่ามิได้

       นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทั้งประเทศต่อมรดกแห่งอารยธรรมไทยที่ยิ่งใหญ่งดงาม อันเป็นประจักษ์พยานถึงความรุ่งโรจน์แห่งพุทธศิลปะ ฝีมือช่าง และพลังแห่งศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาที่สืบเนื่องเรื่อยมาจากอดีตจวบปัจจุบัน และเรื่อยไปยังอนาคตกาล ฯ

 
 
ความภาคภูมิใจของคนไทยทั่วแผ่นดิน
 
  
80-21120-16122070

台長: THOKCHAS

是 (本台目前設定為強制悄悄話)
* 請輸入識別碼:
請輸入圖片中算式的結果(可能為0) 
(有*為必填)
TOP
詳全文